วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

มะนาวแป้นบนต้นตอมะนาวพวง ทนโรคและอายุยืน Self sufficient farm

มะนาวแป้นบนต้นตอมะนาวพวง ทนโรคและอายุยืน Self sufficient farm

การปลูกมะนาวในปัจจุบันเกษตรกรต้องปลูกมะนาวซ่อมกันทุกปี สาเหตุจากต้นมะนาวอายุไม่ยืน (ตายเร็ว)

คือ อายุได้ 2 – 3 ปีก็ตายแล้ว ปัญหาเหล่านี้เกิดจาก
1.                                       กิ่งพันธุ์มะนาวที่นำมาปลูก “อมโรค” เป็นโรคทริสเตซ่าที่มีอาการใบเหลือง ต้นโทรม สาเหตุจากเกษตรกรตอนกิ่งภายในสวนตนเองหรือแหล่งเดิมๆที่มีการปลูกมะนาวมานาน พบว่าต้นแม่พันธุ์มะนาวดังกล่าวมักจะอมโรคทริสเตซ่า เกษตรกรจึงต้องเสียเวลาและเสียโอกาส
2.                                       ปัญหาต้นโทรม จากการที่มะนาวติดผลดกมากแต่ขาดการบำรุงที่ดีพอ หลังการเก็บเกี่ยว และใช้สารแพคโคลบิวทราโซลเป็นสาเหตุทำให้ต้นโทรมทำให้ระบบรากอ่อนแอ จากนั้นก็จะมีโรครากเน่าและโคนเน่าซ้ำเติม
คุณสุชาติ พุฒเถื่อน บ้านเลขที่ 136 หมู่ 9  ต.ท่าบัว อ.โพทะเล จ.พิจิตร มีประสบการณ์ในการทำมะนาวมากว่า 20 ปี เริ่มต้นปลูกมะนาวเพียง 120 ต้น ปัจจุบันปลูกมะนาวถึง 1,800 ต้น หรือพื้นที่กว่า 20 ไร่ มาบอกเล่าถึงแนวทางแก้ไขปัญหาข้างต้นว่า เกษตรกรคิดอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร รวมถึงเทคนิคการทำมะนาวนอกฤดูสูตรของคุณสุชาติ ที่ทำอย่างไรให้ได้เงินล้านในแต่ละปี
คุณสุชาติได้เล่าถึงแนวทางที่เกิดจากภูมิปัญญาของตนเองว่าได้ใช้วิธีคัดเลือกสายพันธุ์ต้นมะนาวแป้นรำไพกันเอง วิธีการคือนำเมล็ดของมะนาวแป้นที่ดูลักษณะผลหรือต้นแม่ว่าดี จะนำเมล็ดมันมาเพาะเอาไว้ รอเวลาประมาณ 3 ปี เมล็ดมะนาวแป้นก็จะสามารถแสดงลักษณะและคัดเลือกต้นที่ดีได้ โดยที่ใบมะนาวเพาะเมล็ดจะมันเขียวเข้ม ใบใหญ่ ดูการติดผลว่าติดเป็นพวงติดดกดีหรือไม่ แต่มะนาวลักษณะดีๆจาการเพาะเมล็ดอย่างเพาะไว้ 10 ต้น ก็อาจจะได้ต้นดีสัก 1 ต้น ที่เราคัดเลือดมาเป็นพ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ ข้อดีของการใช้วิธีนี้คือ เราได้ต้นที่มีลักษณะดีไม่มีอาการของโรค (ดูแลดีมาตั้งเล็ก) ค่อนข้างจะปลอดโรคได้ระดับหนึ่ง
การลูกมะนาวบนต้นตอเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง คุณสุชาติจะใช้มะนาวพวงเป็นต้นตอหรือเป็นส่วนของรากเพื่อหาอาหาร เริ่มจากปักชำกิ่งมะนาวพวงเอาไว้ก่อน จากนั้นเอาตอมะนาวพวงไปทาบ, ต่อยอด หรือติดตาด้วยยอดต้นพันธุ์มะนาวแป้นลงไป หรือจะปลูกต้นตอมะนาวพวงลงดินไปก่อนแล้วไปเปลี่ยนยอดมะนาวแป้นรำไพตามไปทีหลังการขยายพันธ์โดยใช้มะนาวพวงเป็นต้นตอพบว่า ต้นมะนาวแสดงอาการของโรคช้าลงและต้นมะนาวมีอายุยืนขึ้น ทนต่อโรคมากขึ้นและต่อมาก็ได้หาต้นตอส้มต่างประเทศมาใช้ เช่น เสียบยอดมะนาวบนต้นตอทรอยเยอร์, คลีโอพัตรา, สวิงเกอร์ ฯลฯ พบว่าได้ผลดีมากะนาวมีการเจริญเติบโตเร็ว, แข็งแรง, ให้ผลผลิตดกมาก วิธีการเหล่านี้อาจเป็นแนวทางให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาดังกล่าวได้ลองนำไปใช้
เปิดสูตรมะนาวฤดูแล้งคุณสุชาติ การทำมะนาวฤดูแล้งสิ่วสำคัญที่สุดคือ ทำให้ต้นสมบูรณ์มากที่สุด ต้องบำรุงดูแลต้นมะนาวตลอดเวลา เริ่มจากหมดฤดูแล้งที่เก็บเกี่ยวผลมะนาวหมดราวๆปลายๆ พฤษภาคม เกษตรกรต้องเตรียมต้น ถ้าต้นมีกิ่งทึบก็ควรตัดแต่งกิ่งให้บ้าง เพื่อทำให้ต้นโปร่ง การแตกใบอ่อนก็จะดี ฉีดยาทั่วถึงด้วย ใส่ปุ๋ยคอก เช่น ขี้วัวให้ต้นมะนาวต้นละ 1 กระสอบ (กระสอบอาหารสัตว์) หรือประมาณ 10 กก. ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 เพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อน สร้างใบใหม่ การทำใบใหม่เกษตรกรอย่างน้อยต้องทำใบให้ได้สัก 2 ชุด การฉีดกระตุ้นให้มะนาวแตกใบอ่อนดีและทั่วทั้งสวน ก็จะมีฮอร์โมนกลุ่มแคลเซียมโบรอน และสาหร่ายสกัด และที่ขาดไม่ได้คือ ฮอร์โมนจิบเบอเรลลินจะทำให้การแตกใบอ่อนพร้อมกันทั่วทั้งต้น เมื่อแตกใบอ่อนก็ดูแลเรื่องเพลี้ยไฟ, แมลง และหนอนทำลายใบ อย่าให้ใบเสียหาย
ช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม เมื่อได้ใบอ่อน 2 ชุดแล้ว เราจะต้องสะสมอาหารให้ใบมะนาวมีความสมบูรณ์ ให้ปุ๋ยทางดินด้วยสูตรเสมอ ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราควบคุมไม่ให้มะนาวของเราแตกใบอ่อนเราก็จะใช้ปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 ฉีกพ่นให้เพื่อกดไม่ให้มันแตกใบอ่อนออกมาอีกแต่ดูถ้ามันจะแตกใบอ่อนหรือฝนชุกก็ต้องเพิ่มอัตราปุ๋ยสูตร 0-52-34 เข้าไปจาก 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรก็เป็น 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร แต่ถ้าปุ๋ยสูตร 0-52-34 ดูจะเอาไม่อยู่ก็ต้องใช้สารแพคโคลบิวทราโซล ความเข้มข้น 15(เช่น แพนเที่ยม 15%) เข้าช่วยยับยั้งควบคุมวิธีการก็มีแบบฉีดพ่นทางใบและราดรอบโคนต้น โดยวิธีที่เห็นผลชัดคือ วิธีการราดโคนต้นอัตราที่ใช้สารก็จะดูจากขนาดทรงพุ่ม เฉลี่ยทรงพุ่ม 1 เมตร ต่อสาร 10 – 15 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ยกตัวอย่างมะนาวพุ่มกว้าง 3 เมตร จะใช้สารแพนเที่ยม 15ประมาณ 30 – 40 กรัม หรือถ้าจะใช้วิธีฉีดสารมักจะไม่มีจำนวนครั้งที่แน่นอน ถ้าฝนตกมากฝนชุกก็ต้องฉีดคุม ช่วงสะสมอาหารนี้ก็ต้องฉีดปุ๋ย, ฮอร์โมน, สารป้องกันกำจัดโรค – แมลง ให้อย่างน้อย 5 -6 ครั้ง แต่การใช้สารก็ต้องระวังเรื่องของโรคโคนเน่า รากเน่า และโรคใบเหลืองต้นโทรม เกษตรกรต้องดูแลรักษารากมะนาวให้ฟื้นความสมบูรณ์ ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราโกลฟอส – อี ผสมน้ำอัตรา 100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ราดที่โคนต้นมะนาว (หลังจากที่ราดสารได้สัก 2 เดือน) และข้อควรระวังในการใช้สารราด คือ มะนาวควรมีอายุอย่างน้อย 4 ปีขึ้นไป
เปิดตาดอกด้วยการเพิ่มอัตราฮอร์โมนอาหารเสริม เราใช้ฮอร์โมน อาหารเสริมกลุ่มแคลเซียมโบรอน, เทรนเนอร์, สาหร่ายสกัด, และโปรดั๊กทีฟผสมรวมกัน เช่น จากอัตราปกติ 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เราก็จะใช้เพิ่มเป็น 50 ซีซี เป็นต้นใช้ร่วมกับยาป้องกันกำจัดแมลง แต่ก่อนจะเปิดตาดอกจะต้องดูใบมะนาวของเราว่าเขียวสมบูรณ์เมื่อขยำใบดูมันจะมีเสียงดังกรอบ ช่วงที่นิยมเปิดตาดอกก็ช่วงเดือน กันยายน – ตุลาคม นับไปอีก 5 เดือน หลังออกดอกก็จะได้เก็บมะนาว

จากประสบการณ์ของคุณสุชาติ เกษตรกรที่ทำมะนาวฤดูแล้งได้เงินล้านมาแล้วคงมอบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ท่านเอาไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป


EmoticonEmoticon