วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ปลูกผักพื้นบ้านเพื่อการค้าทางเลือกใหม่ของเกษตรกร Self sufficient farm

“ผักพื้นบ้าน” หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ พืชผักพื้นเมืองในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ชาวบ้านนำมาบริโภคในครัวเรือน โดยได้มาจากธรรมชาติ จากเรือกสวน ไร่นา หรือปลูกไว้ตามริมรั้วหรือสวนหลังบ้าน เพื่อความสะดวกในการเก็บมาบริโภค ซึ่งนอกจากจะนำมาบริโภคแล้ว ผักพื้นบ้านบางชนิดยังนำไปใช้เป็นยารักษาโรคและสามารถเก็บจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครอบครัว ช่วยเศรษฐกิจของชุมชนอีกทางหนึ่ง


ผักพื้นบ้านเหล่านี้อาจมีชื่อเฉพาะแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น บัวบก ภาคอีสานเรียก ผักแว่น ภาคเหนือที่จังหวัดลำปาง เรียก จำปาเครือ หรือกะบังนอก ตะไคร้ ภาคเหนือ เรียก จะไคร ภาคใต้เรียก ไคร ภาคอีสานที่จังหวัดสุรินทร์ เรียก เชิดเกรบ หรือเหลอะเกรย เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจผักพื้นบ้านที่วางขายในตลาดสดตามภูมิภาคต่าง ๆ พบว่า มีผักพื้นบ้านมากกว่า 50 ชนิดที่นำมาจำหน่ายในท้องตลาดตามฤดูกาลเป็นประจำ โดยชนิดและปริมาณอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามท้องถิ่นและฤดูกาลของพืชแต่ละชนิด เช่น เมื่อถึงฤดูกาลผักหวานป่า จะมีชาวบ้านเข้าไปเก็บออกมาจำหน่าย รวมทั้งจะมีพ่อค้าคนกลางเข้าไปรับซื้อถึงที่ แล้วนำมาวางจำหน่ายตามท้องตลาดอีกทอดหนึ่ง ทำให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสได้รับประทานผักหวานป่ากันอย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่ราคาของผักพื้นบ้านจะไม่ชัดเจนแน่นอนเหมือนผักเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไป ถึงอย่างไรก็สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรที่ไปเก็บหามาจำหน่ายได้ไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้นแนวโน้มทางด้านการตลาดของผักพื้นบ้านไทย จึงมีอนาคตที่สดใส สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ในปัจจุบัน เพราะกระแสความนิยม และการตื่นตัวเรื่อง สุขภาพอนามัย เนื่องจากมีรสชาติดี อร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะคุณค่าทางโปรตีน วิตามินและเกลือแร่ ซึ่งบางชนิดหารับประทานได้ยาก เพราะออกตามฤดูกาลและมีเฉพาะบางท้องถิ่น จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

นายปราโมทย์ รักษาราษฎร์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและตระหนักต่อปัญหาดังกล่าวของผักพื้นบ้าน จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกผักพื้นบ้านเชิงการค้า และโครงการส่งเสริมอนุรักษ์ และปลูกผักพื้นบ้านบริโภคใน ครัวเรือนขึ้น มาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ในลักษณะโครงการนำร่อง ขณะนี้ดำเนินการในพื้นที่รวม 56 จังหวัด 628 ตำบล ตามความต้องการของชุมชนที่เสนอขอขึ้นมา โดยดำเนินการผ่านศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล รวมทั้งได้ดำเนินโครงการอุทยานผักพื้นบ้าน เพื่อรวบรวมพรรณผัก

พื้นบ้านจากภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในลักษณะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และค้นคว้าหาความรู้ควบคู่กันไป ซึ่งการดำเนินงานโครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดผลดีทั้งด้านการผลิต การตลาด และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

นายธงชัย สถาพรวรศักดิ์ ผู้จัดการผักพื้นบ้าน กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การปลูกผักพื้นบ้านนั้นง่ายกว่าการปลูกผักเศรษฐกิจทั่วไปอย่างเห็นชัดเจน เช่น การปลูกตะไคร้ เริ่มจากไถพรวนดินและตากดินไว้ประมาณ 7-10 วัน จากนั้นย่อยดินให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักคลุกเคล้าให้เข้ากัน ขุดหลุมปลูกระยะ 30X30 เซนติเมตร ส่วนการเตรียมต้นพันธุ์ซึ่งได้จากการแยกกอก่อนนำมาปลูกนั้นควรตัดใบออกก่อน ให้เหลือต้นยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร มาแช่น้ำประมาณ 5-7 วัน เพื่อให้รากงอก เมื่อรากแก่เต็มที่จะมีสีเหลืองเข้ม จึงนำไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ โดยวางต้นพันธุ์เฉียง 45 องศาไปทางด้านใดด้านหนึ่ง แล้วกลบดินให้มิด รดน้ำให้ชุ่ม หลังปลูกได้ประมาณ 30 วัน ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 46-0-0 อัตราไร่ละ 50 กิโลกรัม ระยะเวลาเพียง 90 วัน ก็สามารถตัดตะไคร้ออกไปจำหน่ายได้ ซึ่งการปลูกตะไคร้นั้นจะมีแมลงศัตรูพืชรบกวนน้อยมากหรือไม่มีเลย เพราะตะไคร้เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง เมื่อคิดต้นทุนและผลตอบแทนจากการปลูกตะไคร้ พบว่า พื้นที่ปลูก 1 ไร่ ต้องใช้ต้นทุนการผลิตประมาณ 2,585 บาท สามารถตัดตะไคร้ออกจำหน่ายได้ประมาณ 2 ตัน ราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 3-5 บาท รวมรายได้ทั้งหมดประมาณ 8,000 บาท เมื่อหักต้นทุน พบว่า การปลูกตะไคร้ 1 ไร่ มีกำไรสุทธิ 5,414 บาท ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากทีเดียว เมื่อเทียบกับการปลูกผักเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ต้องกมีการดูแลรักษา รวมทั้งมีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างดี ต้นทุนการผลิตจึงสูงขึ้น ในขณะที่ปลูกตะไคร้ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรมากมาย แมลงศัตรูพืชก็ไม่มารบกวน ฉะนั้นการปลูกผักพื้นบ้านจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรนำเสนอให้เกษตรกรได้เลือกปลูกในปัจจุบัน ฉะนั้นหากสนใจเรื่องการปลูกผักพื้นบ้านติดต่อได้ที่คุณธงชัย สถาพรวรศักดิ์ (ผู้จัดการผักพื้นบ้าน) กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. (02) 561-4878 หรือศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลใกล้บ้าน


EmoticonEmoticon